
The Helmeted Hornbill crisis: “นกชนหิน” สัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20 ของไทย
เมื่อเดินทางเข้าไปยังป่าลึกบริเวณอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง บางครั้งเราอาจได้ยินเสียงอยู่บนยอดไม้ดัง “ตุ๊ก … ตุ๊ก…” เป็นจังหวะยาว จนปลายเสียงมีเสียงคล้ายเสียงหัวเราะ หรือบางครั้งเราอาจได้ยินเสียงแผดดังคล้ายเสียงแตรรถยนต์ หากเข้าใจไม่ผิด เสียงนี้อาจเป็นเสียงของนกที่มีวิวัฒนาการมาหลายล้านปี เมื่อหันมองตามเสียงเราอาจพบเห็นตัวนกนี้ที่มีลักษณะที่เด่นคือ เป็นนกขนาดใหญ่ มีหางยาว ปากสั้นแข็งสีแดงกล่ำ ปลายปากมีสีเหลือง ตัวผู้มีหนังเปลือยบริเวณคอสีแดงคล้ำ ตัวเมียส่วนนี้เป็นสีฟ้าอ่อนจนถึงสีน้ำเงิน มีโหนกขนาดใหญ่ ด้วยพฤติกรรมการต่อสู้กันจะมีการบินใช้โหนกชนกันทำให้เกิดเสียงดัง จากพฤติกรรมดังกล่าว นกชนิดนี้จึงถูกเรียกว่า “นกชนหิน”
นกชนหิน (Helmeted Hornbill) สถานะการอนุรักษ์ในปัจจุบันถูกจัดอยู่ในสถานะ “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นกชนิดนี้ถูกคุกคามและถูกล่าโดยมนุษย์ โดยเฉพาะในตลาดค้าสัตว์ป่า โหนกของนกเงือกถูกนำมาใช้เป็นเครื่องประดับและมีมูลค่ามหาศาลในตลาดค้าสัตว์ป่า ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้นกชนหินเป็นที่ต้องการของตลาด และจูงใจให้คนล่าสัตว์ป่าล่านกชนิดนี้กันมากขึ้น ส่งผลให้นกชนหินมีสถานะเป็นนกใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง จากรายงานขององค์กรติดตามการค้าสัตว์ป่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TRAFFIC) พบว่า การโพสต์ซื้อขายสินค้าจากนกเงือก 236 โพสต์ มีผลิตภัณฑ์จากนกเงือกมากกว่า 546 ชิ้น โดย 173 โพสต์ หรือ 73% เป็นการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากนกชนหิน นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2557 ถึง เมษายน 2562 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 64 เดือน พบการโพสต์ขายนกชนหิน คิดเป็นสัดส่วน 83 เปอร์เซ็นต์ จากชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์นกเงือกทั้งหมดจากการโพสต์ในกลุ่มซื้อขายสัตว์ป่าบนสื่อออนไลน์ทั้งในกลุ่มปิดและกลุ่มเปิด
การสูญพันธุ์ (Extinction) ความหมายในทางชีววิทยาหมายถึงการสิ้นสุดของการดำรงอยู่ของสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิต หรือ หากจะสื่อสารให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ การสูญพันธุ์หมายถึงการตายของสิ่งมีชีวิตตัวสุดท้ายในสปีชีส์นั้นนั่นเอง ซึ่งการสูญพันธุ์นั้นจะส่งผลต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง สาเหตุของการสูญพันธุ์มาจากหลายสาเหตุ เช่น สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นไม่สามารถปรับตัวและอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ จนถึงการถูกล่าโดยมนุษย์ นกชนหิน เป็นนกที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่งในบรรดานกในวงศ์นกเงือก เป็นนกที่มีวิวัฒนาการยาวนานที่สุดในวงศ์นกเงือกที่ยังเหลืออยู่ในธรรมชาติ ด้วยพฤติกรรมการจับคู่ผสมพันธุ์และการทำรังของนกในวงศ์นกเงือก โดยจะมีการปิดปากรังเพื่อให้ตัวเมียกกไข่และเลี้ยงลูก ส่วนนกตัวผู้จะเป็นผู้ออกหาอาหารมาเลี้ยงตัวเมียและลูก ๆ ในรัง หากนกตัวผู้ถูกล่าหรือตายไปจะส่งผลในนกตัวเมียและลูกนกในรังอดอาหารและตายตามกันไปด้วย ดังนั้น การล่านกเพียงหนึ่งตัวอาจทำให้นกตายไปมากกว่า 1 ตัว หากนกชนหินสูญพันธุ์ไปเราอาจจะไม่เห็นนกชนิดนี้บนผืนป่าในประเทศไทยและในผืนป่าอื่น ๆ บนโลกอีกเลย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมาสังคมไทยจึงมีความตื่นตัวในการผลักดันให้จัดนกชนหิน 1 ในนกเงือก จากนกเงือก 13 ชนิดของไทยให้เป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 โดยมีมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เป็นหัวขบวนหลักในการรณรงค์ผลักดันในเรื่องนี้ โดยมีการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ www.change.org พบว่ามีผู้ร่วมลงชื่อในการผลักดันให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนจำนวนมาก ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม 2564 คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ผ่านความเห็นชอบให้นกชนหิน (Helmeted Hornbill) เป็นสัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20 ของไทย
เรื่องโดย: นฤดม พิมพ์ศรี นักธรรมชาติวิทยาชายขอบ ผู้ที่มีหัวใจ กล้องถ่ายรูป และปากกาเป็นสรณะ
ข่าวในหมวด
ONE-DAY CAMP : นิติวิทยาศาสตร์ x ผ่ากบ
ONE-DAY CAMP ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์!!!
Science walk rally !!! ลมหนาวและดาวเดือน